ไมโครลิสซิ่ง พัฒนาระบบ CDP เชื่อมฐานข้อมูลลูกค้าใน 4 ธุรกิจ | Micro Leasing

ไมโครลิสซิ่ง พัฒนาระบบ CDP เชื่อมฐานข้อมูลลูกค้าใน 4 ธุรกิจ

20 March 2023

ไมโครลิสซิ่งเร่ง Digital Transformation ยกระดับบริการลูกค้า สร้างมาตรฐานการทำงานแกร่ง พัฒนาระบบ Customer Data Platform เชื่อมข้อมูลลูกค้าทุก BU พร้อมต่อยอด AI/ML

ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการใช้ชีวิตของผู้คน ส่งให้ธุรกิจต้องเร่งปรับตัว เพื่อส่งมอบประสบการณ์ให้ตรงกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนอยู่ตลอด การทำ Digital Transformation จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นขององค์กรธุรกิจ เพื่อที่จะสามารถใช้โอกาสนี้ ช่วงชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน และสร้างมาตรฐานการทำงานภายในองค์กรให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล

การเงินธนาคาร ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายปรีดา ไอรมณีรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการด้านทรัพยากรและการลงทุน บริษัท ไมโคร ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ไมโครลิสซิ่ง ถึงที่มาของธุรกิจผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก พร้อมเผยมุมมองการทำ Digital Transformation และการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อเตรียมพร้อมรองรับการขยายตัวของลูกค้ายุคดิจิทัล รวมถึงการสร้างมาตรฐานการทำงานในองค์กร ตลอดจนทิศทางและแผนการพัฒนาระบบ Customer Data Platform เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลภายใน Ecosystem ของกลุ่มบริษัท


สร้างธุรกิจจากองค์ความรู้ สู่ตัวจริงสินเชื่อรถบรรทุกมือ 2


นายปรีดา กล่าวว่า ไมโครลิสซิ่ง เป็นผู้ให้บริการด้านสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือ 2 ก่อตั้งขึ้นในปี 1994 จากวิสัยทัศน์ของ นายธรรมศักดิ์ อัชญาวัฒน์ ซึ่งมีประสบการณ์จากการทำธุรกิจค้าขายอะไหล่รถบรรทุกมากว่า 47 ปี ทำให้ทราบข้อมูลเชิงลึกของตลาด พฤติกรรมของผู้ขับรถบรรทุก ตลอดจนปัญหาด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อซื้อหรือบำรุงรักษา จึงเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจและก่อตั้งบริษัท ไมโครลิสซิ่ง ขึ้น

ในช่วงแรก ไมโครลิสซิ่ง มีเป้าหมายให้บริการด้านสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทุกประเภทแต่เน้นไปที่กลุ่มรถบรรทุกมือ 2 ตั้งแต่ขนาด 6 ล้อขึ้นไป เพราะเป็นตลาดที่มีคู่แข่งน้อย และต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ด้านอะไหล่สูง อีกทั้งรถบรรทุกส่วนใหญ่เป็นรถที่ใช้ในการบริการขนส่ง สามารถสร้างรายได้ ทำให้ลูกค้ามีเงินมาชำระค่างวดได้อย่างสม่ำเสมอ

“สินเชื่อรถบรรทุกมือ 2 มีข้อดีต่างจากสินเชื่อรถทั่วไป เพราะไม่มีใครซื้อรถบรรทุกไปขับเล่น อีกทั้งผู้ให้บริการสินเชื่อรถบรรทุกต้องมีความรู้ ความชำนาญในเรื่องเครื่องยนต์ อะไหล่ เพื่อใช้พิจารณาในการอนุมัติสินเชื่อ สามารถแนะนำลูกค้ากลับไปได้ว่ารถที่ลูกค้าต้องการจะซื้อมีคุณภาพ มีความพร้อม สามารถใช้งานได้อีกในระยะยาว เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำรถไปต่อยอดธุรกิจ วิ่งงานได้จริง ไม่ใช่ซื้อรถไป 2 เดือนต้องเวียนกลับมาจอดซ่อม”

ปัจจุบันไมโครลิสซิ่งได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และได้ขยายธุรกิจภายใต้ระบบ Ecosystem เน้นการควบคุมพอร์ตสินเชื่อที่มีคุณภาพ และการให้บริการสินเชื่อที่ครบวงจร โดยแบ่งออกเป็น 4 ธุรกิจย่อย ได้แก่ 1ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือ 2 ที่เป็นธุรกิจหลัก ดูแลโดยไมโครลิสซิ่งโดยตรง 2ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ดูแลโดยบริษัท ไมโครพลัสลิสซิ่ง จำกัด 3ธุรกิจนายหน้าขายประกัน ดูแลโดยบริษัท ไมโครอินชัวร์ โบรกเกอร์ จำกัด และ 4ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล เน้นการให้สินเชื่อเพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มสภาพคล่องให้คนขับรถบรรทุก ดูแลโดยบริษัท ไมโคร ฟิน จำกัด


ไมโครลิสซิ่งยุคใหม่ ทันสมัย ปลอดภัย ได้มาตรฐาน


นายปรีดา เปิดเผยว่า ก่อนที่บริษัทจะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทจำเป็นต้องมีการวางรากฐานที่แข็งแรง ทั้งระบบบัญชีที่ดี และมาตรฐานการทำงานที่ชัดเจน ทำให้ในปี 2018 ไมโครลิสซิ่ง ลงทุนระบบ Multi Hybrid Cloud โดยเลือกใช้โซลูชั่นจากนูทานิคซ์ เพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐานไอทีให้ทันสมัย ให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และเสถียร ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า อีกทั้งยังช่วยเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบกระดาษมาเป็นไฟล์ดิจิทัลทั้งหมด ส่งผลให้สามารถลดระยะเวลาในการพิจารณาสินเชื่อลงได้อย่างมาก

“ธุรกิจของเราแตกต่างจากผู้ให้บริการสินเชื่อรายอื่น ลูกค้าอยู่ตรงไหนเราต้องไปพื้นที่นั้น เพื่อพบปะ พูดคุย ดูพฤติกรรมจริงของลูกค้า ดังนั้นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก พนักงานของไมโครลิสซิ่งจะมีแท็ปเล็ตประจำตัว ใช้เก็บข้อมูล หากลูกค้าต้องการยื่นเอกสาร สามารถใช้แท็ปเล็ตถ่ายรูปส่งให้สำนักงานใหญ่พิจารณาได้เลย ไม่ต้องเสียเวลานำเอกสารกลับมาสำนักงานใหญ่ ลูกค้าก็จะทราบผลได้เร็วขึ้น”

นอกจากนี้ ไมโครลิสซิ่งยังลงทุนระบบ Business Intelligence (BI) เพื่อสร้างกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลแบบอัตโนมัติ ทำให้ไมโครลิสซิ่งมีพื้นฐานของระบบไอทีที่แข็งแรง และช่วยประหยัดต้นทุนในการบริหารจัดการระบบในระยะยาวได้

นายปรีดากล่าวต่อว่า การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ยังช่วยให้ระบบการทำงานเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งองค์กร ซึ่งช่วยเสริมจุดแข็งให้สามารถคว้าโอกาส หรือบรรลุข้อตกลงทางธุรกิจได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาด้านความปลอดภัยในการเก็บรักษาข้อมูลตามมาตรฐาน ISO 27001 ซึ่งสอดคล้องข้อบังคับของกฎหมาย PDPA และมาตรฐานระดับสากล ส่งผลให้ลูกค้าของไมโครลิสซิ่งสามารถวางใจได้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลมีความปลอดภัยและไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นก่อนได้รับอนุญาติ

“ไมโครลิสซิ่งเป็นผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์ด้านการเงิน การดำเนินงานจึงต้องปฏิบัติตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การบริการทั้งหมดมีความน่าเชื่อถือ โปร่งใส และรัดกุมให้เป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ดังนั้นการใช้โซลูชั่นที่มีประสิทธิภาพสูง ยืดหยุ่น และปรับขนาดได้ จะช่วยให้สามารถรองรับข้อมูลจำนวนมหาศาล พนักงานจากทั่วประเทศสามารถเข้าใช้งานแอปพลิเคชั่นหลักของบริษัทฯ ได้พร้อมกัน อีกทั้งยังช่วยให้ฝ่ายพิจารณาสินเชื่อทำงานได้อย่างราบรื่นจากทุกที่ทุกเวลา เสริมภาพลักษณ์ความเป็นมืออาชีพขององค์กร”


สร้าง Customer Data Platform ช่วยรู้จักลูกค้า ส่งบริการโดนใจ


นายปรีดา กล่าวว่า ก้าวต่อไปของไมโครลิสซิ่งในการเดินหน้าทำ Digital Transformation จะเน้นไปที่การสร้างระบบ Customer Data Platform (CDP) โดยระบบนี้จะทำหน้าที่เชื่อมข้อมูลของลูกค้าจาก 4 ธุรกิจเข้าด้วยกัน ทำให้สามารถรู้จักลูกค้าได้ดีขึ้น และยังช่วยเตรียมข้อมูลให้พร้อมสำหรับการต่อยอดทางธุรกิจ ทั้งในด้านการวิเคราะห์ข้อมูล และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละรายในอนาคต

ตัวอย่างเช่น ลูกค้าใช้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกแล้วต้องการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์เพิ่ม ทีมพิจารณาสินเชื่อจะสามารถดึงข้อมูลเดิมของลูกค้าที่เคยให้ไว้มาใช้ได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาเก็บข้อมูลหรือทำเอกสารใหม่ ลดการเก็บข้อมูลที่ซ้ำซ้อน หรือลูกค้าบางรายมีพฤติกรรมการผ่อนชำระที่ดี ก็สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์อื่นของบริษัทได้เช่นกัน

นอกจากนี้ระบบ CDP ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดหนี้เสีย (NPL) จากการนำระบบ BI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าเพื่อบ่งบอกข้อมูลเชิงลึก (Insight) ก่อนการตัดสินใจ หากเห็นว่าลูกค้ามีพฤติกรรมการผ่อนชำระที่ผิดปกติ ก็สามารถนำข้อมูลนั้นมาประกอบการพิจารณาการให้สินเชื่อในผลิตภัณฑ์ต่อ ๆ ไปของบริษัทได้

“ถ้าเราไม่ทำระบบ CDP ข้อมูลที่เก็บไว้ในบริษัทก็ไม่ต่างจากขยะ เพราะเราไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้ อีกทั้งยังสิ้นเปลืองต้นทุนในการสร้าง Storage Network เพื่อเก็บข้อมูล ดังนั้นการเชื่อมข้อมูลเข้าด้วยกันจะทำให้บริษัทสามารถสร้างมูลค่าให้กับข้อมูลได้มากกว่าการเก็บไว้โดยไม่ทำอะไร และสามารถนำข้อมูลไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับบริษัทและลูกค้าได้ในอนาคต”

นายปรีดา อธิบายต่อว่า วิธีการทำงานของระบบ CDP จะเริ่มจากการแบ่งชุดข้อมูลออกเป็นกลุ่มย่อย เพื่อทำ Data Mart เช่น ข้อมูลพฤติกรรมการชำระค่างวด ข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ข้อมูลพนักงาน ข้อมูลด้านการเงินและบัญชี เพื่อให้ระบบ BI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไมโครลิสซิ่งได้เริ่มทำขั้นตอนนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ในขั้นต่อไป จะเป็นการนำข้อมูลในแต่ละ Mart จากคลังข้อมูลทั้งหมดใน Data Lake มาวางผังเชื่อมโยงกันในลักษณะของ Data Integration เพื่อให้ข้อมูลทั้งหมดเชื่อมต่อถึงกันและใช้งานร่วมกันได้ เช่นถ้าลูกค้าต้องการจะขอสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มเติม ระบบก็จะไปดึงข้อมูลเดิมจาก Data Mart ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น พฤติกรรมการผ่อนชำระหนี้ ข้อมูลส่วนบุคคล รายได้ของลูกค้า เพื่อให้ระบบ BI วิเคราะห์และนำเสนอต่อฝ่ายพิจารณาสินเชื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในขั้นต่อไป

ปัจจุบัน ไมโครลิสซิ่งอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา Data Integration ร่วมกับนูทานิคซ์ โดยมีการตั้งเป้าหมายว่าระบบทั้งหมดจะพัฒนาเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2023 นี้ เพื่อให้รองรับการเติบโตของไมโครลิสซิ่ง กรุ๊ปที่ระดับ 20% รวมถึงสามารถรองรับการเชื่อมต่อผ่าน Open API กับพันธมิตรทางธุรกิจในอนาคต

“ในอดีตถ้าเราอยากทราบยอดการปล่อยสินเชื่อย้อนหลังต้องใช้เวลาหลายวันเพื่อรวบรวมและประมวลผลข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ หากระบบ CDP ถูกพัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว เราจะสามารถเรียกดูข้อมูลทุกอย่างได้ทันที โดยมี BI สรุปข้อมูลให้อัตโนมัติ”

นายปรีดา กล่าวต่อว่า หลังจากมีการพัฒนาระบบ CDP แม้ปัจจุบันจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100% แต่ในด้านผลตอบรับจากลูกค้านั้น เป็นไปในทางบวกค่อนข้างมาก จากเดิมที่ใช้เวลาในการอนุมัติสินเชื่อ 7-10 วัน ก็สามารถลดระยะเวลาการพิจารณาเหลือเพียง 3 วัน และในอนาคตจะเร็วขึ้นอีกเมื่อระบบ CDP เสร็จสมบูรณ์

นอกจากการพัฒนาระบบ CDP แล้ว ไมโครลิสซิ่งยังศึกษาเทคโนโลยีและช่องทางการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ เพื่อค้นหา S-Curve ใหม่ให้แก่บริษัท เช่น Virtual Banking, Digital Asset, logistic และ Factoring รวมถึงมีการวางแผนจะใช้ AI/ML เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตอีกด้วย

“โพสิชั่นของไมโครลิสซิ่งคือผู้ให้บริการทางการเงินในรูปแบบนอนแบงก์ ดังนั้นในอนาคตหากมีช่องทางที่ทำให้บริษัทสามารถก้าวไปสู่การให้บริการทางการเงินที่ครบวงจรได้ เราก็พร้อมจะศึกษาช่องทางเหล่านั้นเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ ค้นหาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์กับลูกค้ามากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีให้ทันสมัย ปลอดภัย น่าเชื่อถือ”